#590 พรบ.คอมพิวเตอร์ 2560 ออกแล้ว
ปลายปี 2559 มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึง พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ กันมาก แล้วพรบ.ฉบับนี้ก็ผ่านการเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2559 แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 24 มกราคม 2560 และรออีก 120 วัน จึงจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 เนื้อหาใน พรบ. เป็นการปรับแก้มาตราใน พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่ง พรบ. ฉบับใหม่ก็ย่อมมีประเด็นที่ถูกใจ และไม่ถูกใจ ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นพรบ.ที่ยอมรับได้อย่างชัดเจน
ประเด็นสำคัญที่เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนใน พรบ. ฉบับใหม่ คือ หากจงใจส่งอีเมลขยะจะได้รับโทษหนักขึ้น เพิ่มความชัดเจนในการขอความร่วมมือลบข้อมูลหรือระงับการเผยแพร่จากผู้ให้บริการ เพิ่มคณะกรรมการมาทำงานกลั่นกรองข้อมูลดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เพิ่มโทษกับผู้กระทำผิดในหลายมาตรา การเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ โดยข้อดีของ พรบ.ฉบับนี้ เชื่อว่าจะทำให้ดำเนินการกับผู้กระทำผิดได้เหมาะสม การเพิ่มโทษจะทำให้เกิดการป้องปราม การร้องขอข้อมูลจากผู้ให้บริการ การลบ และระงับการเผยแพร่ข้อมูลทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เคยมีคำถามว่า ถ้าพบผู้กระทำความผิดตาม พรบ.ฉบับใหม่ ต่อเรา ต่อคนในครอบครัว หรือต่อสังคม จะต้องทำอย่างไร คำตอบ คือ หากพบผู้กระทำผิดตามกฎหมายไม่ว่าจะกฎหมายอะไร ก็สามารถเข้าไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ หรือรับคำแนะนำจากผู้รักษากฎหมายที่มีอยู่ทั่วประเทศ ก่อนจะไปแจ้งความก็ต้องเก็บรายละเอียดให้ครบถ้วน ทั้งการบันทึกเป็นแฟ้ม การบันทึกเป็นภาพ พิมพ์เป็นเอกสาร แล้วนำไปแจ้งความ การมีหลักฐานมากพอจะช่วยให้สามารถเอาผิด หรือสาวไปถึงตัวผู้กระทำผิดได้ แต่ถ้าไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน การไปแจ้งความก็อาจไม่ได้รับความสะดวกในการสืบสวนไปถึงผู้กระทำผิด แล้วนำตัวมาลงโทษได้เร็วตามที่คาดหวัง
icit.kmutnb.ac.th/../ICIT-PRNews-vol.3-61.pdf