#546 ข้อมูลใหญ่เรียกว่าบิ๊กดาต้า
เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว สามารถรับส่งและจัดเก็บข้อมูลในปริมาณมาก และมีการขยายออกไปจนไปถึงคำว่าไม่จำกัดในอนาคต เคยดูคลิ๊ปเล่าเรื่อง ดาต้าเซ็นเตอร์ (Data Center) ของกูเกิ้ล และเฟสบุ๊ค ที่แสดงศักยภาพว่าเค้าเก็บข้อมูลอย่างไร มีความปลอดภัยระดับใด และขยายอุปกรณ์เก็บข้อมูลตลอดเวลา ในระดับบุคคล และองค์กรมีข้อมูลไหลเข้ามาจำนวนมาก แต่การประยุกต์ใช้ประโยชน์ยังอยู่ในขอบเขตจำกัด ตามข้อจำกัดของบิ๊กดาต้า
บิ๊กดาต้า (Big Data) เป็นคำที่นักคอมพิวเตอร์เริ่มให้ความสนใจตามความพร้อมของเทคโนโลยีในปัจจุบัน หมายถึง ข้อมูลที่มีปริมาณมากเกินปกติ (Volumn) มีการเติบโตของข้อมูลอย่างรวดเร็ว (Velocity) และมีการเก็บข้อมูลในหลายรูปแบบ (Variety) ซึ่งข้อมูลแบบบิ๊กดาต้าจะทำให้ผู้จัดเก็บต้องคิดถึงแหล่งเก็บข้อมูล และประสิทธิภาพ เมื่อจัดเก็บไว้ก็ต้องมีการนำข้อมูลมาใช้ มาประมวลผล จึงจะได้สารสนเทศที่มีประโยชน์และนำไปช่วยในการตัดสินใจ จากบทความที่ thainetizen.org มีตัวอย่างการใช้บิ๊กดาต้า ที่นำเสนอโดย รศ.กุลธิดา โรจน์วิบูลย์ชัย ว่าใช้บิ๊กดาต้ามาช่วยในการวางแผนระบบขนส่งสาธารณะ โดยทดลองใช้กับรถบัสสีชมพูที่วิ่งรับส่งนิสิตและบุคลากรภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รถแต่ละคันมีระบบเซ็นเซอร์ที่ติดต่อกับสถานีฐาน เมื่อเชื่อมกับแอพเช็คตำแหน่งรถบนสมาร์ทโฟน จะให้ข้อมูลว่ารถแต่ละคันอยู่ที่ใด ต้องรอนานเท่าใดรถจะถึงจุดที่รออยู่ แต่ปริมาณข้อมูลที่ทดสอบมีเพียง 0.6 กิกะไบต์ต่อวัน หากใช้กับรถเมย์ในกรุงเทพฯ ที่มีหลายพันคัน จะใช้พื้นที่เก็บข้อมูลวันละหลายเทระไบต์ หากจะสร้างระบบติดตามรถทุกคันขึ้นมาจะต้องวางโครงสร้างพื้นฐานและระบบจัดเก็บที่มีความพร้อม
บิ๊กดาต้ายังเกี่ยวข้องกับข้อมูลมากมายรอบตัวเรา เช่น การบันทึกผลตรวจคนไข้ของแพทย์แต่ละคน หากมีการบันทึกข้อมูล และนำข้อมูลมาประมวลผล เพื่อใช้เป็นสารสนเทศสนับสนุนการวินิจฉัยโรค หรือประโยชน์อื่นด้านสาธารณะสุขก็จะมีข้อมูลปริมาณมากให้ได้นำมาใช้ได้ ส่วนข้อมูลด้านการสื่อสารก็จะเป็นข้อมูลการใช้โทรศัพท์ที่ถูกบันทึกไว้ว่าใช้มากน้อยเพียงใด เดินทางไปที่ใด หรือมีพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์อย่างไร ซึ่งข้อมูลของเราที่จะเข้าไปอยู่ในบิ๊กดาต้าแล้วถูกนำไปใช้ประมวลผลก็จะมีประเด็นความเป็นส่วนตัว (Privacy) ที่ต้องพึงระวัง
https://thainetizen.org/2016/04/big-data-in-action-seminar/
https://www.youtube.com/watch?v=Y8Rgje94iI0