# 428 การควบคุมพื้นที่ในโลกไซเบอร์
โลกไซเบอร์หรือเครือข่ายสังคมได้รับการอ้างอิงว่ามีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิต สามารถชี้นำความเชื่อของผู้คนไปในทิศทางที่ต้องการได้ อาทิ การชี้นำทางการเมืองปลายปี 2556 พบว่ามีการใช้ภาพที่เล่าถึงความไม่ชอบมาพากลของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายต่างมีนักคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่สร้างภาพปลอม หรือข้อมูลปลอมประกอบภาพ เพื่อใส่ร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง จนมีการเตือนกันให้ใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสารให้มาก เพราะภาพเดียวกันอาจมีฝ่ายหนึ่งเล่าในเชิงบวก แต่อีกฝ่ายอาจนำไปเล่าในเชิงลบได้ ทั้งแฟนเพจ กลุ่ม และโปรไฟล์ของเฟสบุ๊คต่างก็มีระดับการควบคุมต่อข้อมูลที่แตกต่างกัน แต่มนุษย์สามารถนำออกไปเผยแพร่เพื่อประโยชน์ของตนจนไม่มีอะไรในเครือข่ายสังคมที่วางใจได้ว่าเป็นส่วนตัว (Private) อีกต่อไป
การสร้างกลุ่มนั้นสามารถทำได้ง่าย นักเรียนชั้น ป.6 ก็สามารถสร้างกลุ่มของเพื่อนในห้องได้แล้ว เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน แต่ละกลุ่มกำหนดสิทธิ์การเข้าถึงต่างกันได้ เช่น สมาชิกทุกคนสามารถเพิ่มสมาชิกใหม่ได้ เปิดรับคำร้องเพิ่มสมาชิกใหม่แต่ผู้ดูแลต้องอนุมัติ หรือเป็นกลุ่มลับไม่เปิดเผยแล้วเพิ่มสมาชิกโดยผู้ดูแลเท่านั้น การส่งข้อมูลเข้ากลุ่มอาจแบ่งปันออกไปนอกกลุ่มได้ ถ้าลักษณะของกลุ่มเป็นกลุ่มเปิด และผู้ส่งข้อมูลกำหนดตนเองเป็นสาธารณะ หากต้องการให้ทุกอย่างที่เขียนหรือส่งเข้าไปมีการควบคุมสูงก็ต้องกำหนดระดับสิทธิ์ให้เป็นส่วนตัว และเป็นความลับ
ในบทบาทของอาจารย์สอนหนังสือ จึงต้องมีแฟนเพจเพื่อสื่อสารกับสังคม แบ่งปันสิ่งที่รู้มา และเปิดรับข้อเสนอแนะในฐานะครูที่ยินดีเปิดเผย เปิดใจ เปิดรับเรื่องราวกับเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในที่สาธารณะ แล้วต้องมีกลุ่มปิดหรือกลุ่มลับสำหรับกลุ่มนักศึกษาในแต่ละวิชาที่ให้ผู้เรียนเข้าไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้สอน หรือส่งผลงานที่ยังไม่พร้อมกับการเผยแพร่ โดยมีครูคอยให้คำแนะนำใกล้ชิด แล้วต้องมีกลุ่มปิดสำหรับเพื่อนร่วมงานที่ต้องการสื่อสารในประเด็นที่อาจเป็นความลับขององค์กร เช่น แผนกลยุทธ์ หรือแผนปฏิบัติการทางธุรกิจ แล้วต้องมีกลุ่มเปิดสำหรับเพื่อนร่วมรุ่น หรือลูกค้าที่ต้องการแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร และสามารถแชร์ข้อมูลออกไปนอกกลุ่มได้ เป็นการสนับสนุนกิจกรรมแบบ CSR (Corporate Social Responsibility) ที่เน้นการสื่อสารระหว่างบุคคลเป็นพิเศษ
|