|
# 385 เลือกข้างว่าจะชอบหรือติดตาม
เมื่อต้องอยู่ในสังคมก็ต้องมีหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่เว้นแม้แต่เครือข่ายสังคมออนไลน์ เมื่อเข้าไปในสังคม อาทิ facebook, google, twitter, instagram, tumblr, linkedin, yammer ก็ต้องแสดงตัวตนอย่างน้อย 2 ข้อมูล คือ ชื่อ และภาพประจำตัว ในอดีตการเปิดเผยตัวตนด้วยการใช้ภาพถ่ายเสมือนเรื่องต้องห้าม มีการใช้ภาพแบบ avatar คือ ภาพตัวแทน ในยุคต่อมาเริ่มมีการใช้ภาพตัวจริงเพิ่มขึ้น ปัจจุบันจะใช้ภาพถ่ายของตนเป็นส่วนใหญ่ เพราะมีปัจจัยเสริมด้านเทคโนโลยี แต่มีส่วนน้อยที่ใช้ภาพการ์ตูน หรือภาพดาราแทนตนเอง แล้วภาพนั้นยังสื่อด้วยตัวภาพเองว่าคุณคือใคร มีอารมณ์ มีความรู้สึกจากภาพ ทำให้เกิดพลังหนุนการสื่อสารที่ดีกว่า ดังคำว่าดวงตาคือหน้าต่างของหัวใจ ถ้าหันหลังให้กันแล้วจะสื่อสารกันได้อย่างไร
สังคมออนไลน์ก็มีพฤติกรรมที่คล้ายกับสังคมจริง คือ สามารถแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนข้อมูล นำเสนอเรื่องราวผ่านภาพถ่ายและคลิ๊ปวีดีโอ ถ้าเป็นชีวิตจริงก็ทำแบบสำรวจว่าที่นำเสนอมานั้นชอบหรือไม่ แต่ในสังคมออนไลน์มีบริการปุ่มที่เรียกว่าไลค์ (Like) หมายถึงการชอบต่อเรื่องราวที่เผยแพร่ออกมา มีสถิติอยู่หลายแบบได้แก่ จำนวนผู้เข้าถึงสาระ (Reach) กดชอบ (Like) กดแบ่งปันให้คนอื่นได้รับรู้ (Share) หรือแสดงความคิดเห็น (Comment) ซึ่งการกล้าแสดงออกต่อเรื่องราวต่าง ๆ กับคนแปลกหน้ามีมากขึ้นกว่าในอดีตมาก
ความสัมพันธ์แบบติดตาม (Follow) พบว่าใช้ใน twitter.com โดยผู้ถูกติดตามไม่จำเป็นต้องทราบว่าผู้ติดตามคิดเห็นอย่างไรเป็นความสัมพันธ์ทางเดียว เหมือนเราต้องการติดตามมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ค มีผู้ติดตาม 17 ล้านคน มาร์กไม่จำเป็นต้องรู้จักทุกคน แต่ทุกคนต้องการรับข่าวสารว่าเขาคิดและเขียนอะไรในแต่ละวัน ต่อมาเฟซบุ๊คได้พัฒนาตัวเลือกความสัมพันธ์ให้ชาวเฟสได้เลือกแบบของความสัมพันธ์กับผู้คนในเครือข่ายที่ไม่ใช่เพื่อน ซึ่งต่างกับการขอเป็นเพื่อน และต่างกับไลค์ในเพจที่มีผู้ดูแลหลายคน ความหมายของติดตาม คือ บริการที่ใช้เข้าถึงความเป็นส่วนตัวด้วยการอนุญาตจากเจ้าของบัญชีผู้ใช้ (Account) ว่าคุณมากดไลค์ กดเมนท์ หรือกดแชร์ฉันได้ แต่ฉันไม่ต้องรู้ว่าคุณคือใครคิดอะไรอยู่ ดังนั้นการรู้จักใครสักคนในเฟซบุ๊คก็เลือกได้ว่าจะขอเป็นเพื่อน หรือขอเพียงติดตาม
|
|