|
# 359 พออ่านน้อยยอดซื้อแท็บเล็ตก็น้อย
จากสถิติข้อมูลการอ่านหนังสือของคนไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าคนไทยอ่านหนังสือประมาณ 2 - 5 เล่มต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสิงคโปร์ที่อ่านหนังสือ 50 - 60 เล่มต่อปี ซึ่งมากกว่าประเทศไทยสิบเท่าทำให้ก็อดใจหายไม่ได้ เมื่อสังเกตพฤติกรรมของชาวลำปางก็พบว่าร้านหนังสือหลายแห่งปิดตัวไป ส่วนที่มีอยู่ก็มีคนเข้าไปใช้บริการไม่หนาแน่น รายการหนังสือก็ลดลงเปลี่ยนเป็นสินค้าประเภทอื่นเข้าไปแทน ส่วนนักวิชาการระดับประเทศได้ให้ความเห็นว่าประเทศไทยลงทุนทางการศึกษามาก (ปีละกว่า 4 แสนล้านบาท หรือ 25% ของงบทั้งหมด) แต่ล้มเหลวในด้านการจัดการศึกษาให้ทั่วถึง ครูอาจารย์คุณภาพปานกลาง สอนและสอบแบบท่องตามตำรา ทั้งครู อาจารย์ และนักเรียน นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่รักการอ่าน อ่านจับใจความไม่เก่ง คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ไม่ค่อยเป็น
มาร์ค ไอนสไตน์ ผู้จัดการฝ่ายอุตสาหกรรม เอเชีย-แปซิฟิก บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน มีความเห็นว่า นิสัยการอ่านของคนไทยรั้งการเติบโตของแท็บเล็ต หมายความว่า คนไทยไม่นิยมซื้อแท็บเล็ตเนื่องจากอ่านน้อย เพราะเชื่อว่าแท็บเล็ตที่คนไทยตัดสินใจซื้อก็เพื่อใช้อ่านหนังสือโดยเลือกซื้ออีบุ๊ค (e-book) ที่มีขายอยู่ในอินเทอร์เน็ต แทนการซื้อหนังสือในรูปของสิ่งพิมพ์ แต่ปลายปี 2555 สถิติการอ่านหนังสือจากอีบุ๊คจะเพิ่มขึ้น เพราะนักเรียน ป.1 กำลังจะมีแท็บเล็ตถ้วนทั่ว และรัฐบาลกำลังพัฒนาสื่อการสอนที่ใช้สนับสนุนการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนให้มีประสิทธิภาพ
เคยฟังกูรูท่านหนึ่งให้ทัศนะต่อการพัฒนาของเทคโนโลยีที่มีผลต่อการศึกษาว่า ยุคสื่อสิ่งพิมพ์จะเปลี่ยนเป็นยุคคลิ๊ก (Click) เพราะอะไรก็เข้าถึงได้ง่ายเพียงผ่านปลายนิ้วสัมผัสด้วยการคลิ๊ก ต้องการอะไรก็เพียงแต่คลิ๊ก ต่อไปเวลาถามนักเรียน เขาก็คงจะหยิบแท็บเล็ตขึ้นมาใช้หาข้อมูลมาตอบคำถามเป็นแน่ ซึ่งบางคนคิดว่าเรากำลังข้ามผ่านจากยุค Read เป็นยุค Click เพราะนักเรียนบางคนทำรายงานด้วย 3 ขั้นตอน คือ Click, Copy และ Paste ไม่เหมือนแต่ก่อนที่ต้องเข้าห้องสมุด ไปค้นบัตรรายการ ไปหยิบหนังสือมาอ่านหลายเล่มกว่าจะวิเคราะห์ได้ว่าอะไรคือสิ่งที่จำเป็นต่อการทำรายงาน แล้วต้องสังเคราะห์เนื้อหาไปเขียนด้วยมือลงกระดาษรายงาน รวบรวมนำไปเข้าเล่มส่งครู แต่ปัจจุบันทุกอย่างเสร็จได้ด้วยการคลิ๊กไม่กี่ครั้ง
|
|