# 209 หนทางการเป็นมหาวิทยาลัยไซเบอร์
5 ตุลาคม - 11 ตุลาคม 2552
งานประชุมวิชาการ "หนทางสู่ความสำเร็จของการเป็นมหาวิทยาลัยไซเบอร์" ณ สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2552 มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเสวนาหลายท่าน อาทิ ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ รศ.ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุล จากมหาวิทยาลัยรังสิต ได้นำเสนอประสบการณ์การเปิดหลักสูตรออนไลน์ที่เห็นพ้องต้องกันกับ ผศ.สุพรรณี สมบุญธรรม ผอ.โครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย (thaicyberu.go.th) ว่า การเปิดหลักสูตรออนไลน์ต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพ และแนวโน้มของหลักสูตรที่มีค่าลงทะเบียนต่ำมักมีอัตราการพ้นสภาพของนักศึกษาสูง แล้วหลักสูตรประเภท "เรียนง่าย จ่ายครบ จบแน่" มักไม่ยั่งยืน
การบรรยายผ่านโปรแกรม Skype โดย Prof.Dr.Zoraini Wati Abas จากมหาวิทยาลัยเปิดมาเลเซีย (OUM = Open University Malaysia) ท่านนำเสนอเครื่องมือสนับสนุนการเรียนการสอนแบบออนไลน์ด้วยเทคนิคที่เรียกว่าการเรียนรู้ผสม (Blended Learning) ซึ่งรวมการเรียนแบบพบปะหรือเข้ากลุ่ม (Face-to-Face) การเรียนผ่านสื่อออนไลน์ (Online Learning) และการเรียนแบบจัดการด้วยตนเอง (Self-Manage Learning) ซึ่งเครื่องมือที่ใช้เสริมการเรียนมีทั้งการส่งข้อความสั้น (SMS) ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เรียน การจัดทำบทเรียนที่เปิดเรียนได้จากโทรศัพท์เคลื่อนที่ การใช้สื่อผสม และสถานีวิทยุออนไลน์ โครงการของท่านเริ่มต้นเดือนมกราคม 2552 พบว่าอัตราการพ้นสภาพสูงถึง 25% ต่อภาคเรียน จากการคาดการณ์พบว่าจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาของหลักสูตรน่าจะประมาณ 20% เท่านั้น ส่วนในประเทศไทยมีหลายหลักสูตรที่เปิดสอนหลังจากกระทรวงศึกษาธิการได้ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา พ.ศ.2548 อนุญาตให้สถาบันการศึกษาในไทยสามารถเปิดสอนแบบอีเลิร์นนิ่งได้ ซึ่งวิทยากรทุกท่านกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าคุณภาพเทียบเท่าหรืออาจสูงกว่าการเรียนการสอนตามหลักสูตรปกติ
มีการคาดการณ์ว่าในอนาคต มูลค่าของการเรียนการสอนออนไลน์จะเทียบเท่ากับภาคปกติ และจะมีมูลค่านำธุรกิจประเภทอื่นทั้งอีคอมเมิร์ส และอีเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ มีสิ่งสนับสนุนไปในทางเช่นนั้นทั้งจากการมีเครื่องมือสนับสนุนในอินเทอร์เน็ตมากมายอาทิ เครือข่ายสังคม ชีวิตที่สอง (เช่น SecondLife.com) ระบบรับส่งข้อความ และการยอมรับผู้สำเร็จการศึกษาผ่านระบบอีเลินนิ่งที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ