# 145 ส่งจดหมายหรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์
14 กรกฎาคม - 20 กรกฎาคม 2551
ตั้งแต่ผู้เขียนเกิดมาก็จำไม่ได้ว่าส่งจดหมายติดแสตมป์ (Stamp) ผ่านบริการส่งจดหมายของบริษัทไปรษณีย์ไทยไปกี่ฉบับ แต่คาดว่าไม่เกิน 100 ฉบับแน่นอน เพราะต้องซื้อแสตมป์มาติด ราคาดวงละเท่าใดก็ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของจดหมาย (Letter) ซึ่งปัจจุบันจดหมายธรรมดาที่น้ำหนักไม่เกิน 20 กรัมต้องติดแสตมป์ราคา 3 บาท ถ้าเป็นไปรษณีย์ลงทะเบียน (Registration) หรือไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS = Express Mail Service) ก็จะมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ถ้าส่งไปต่างประเทศจะมีราคาสูงกว่าส่งในประเทศหลายเท่า การส่งจดหมายตามปกติมีโอกาสที่จดหมายไม่ถึงมือผู้รับได้จากหลายสาเหตุ เช่น ผู้รับไม่เคยอยู่บ้าน มีผู้รับจดหมายแทน หรือจ่าหน้าซองไม่ชัดเจนจนส่งผิดบ้าน เป็นต้น ซึ่งบริษัทไปรษณีย์ไทยจะรับผิดชอบต่อการสูญหายไม่เกินวงเงินตามประเภทของการจัดส่ง
จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเมล(E-Mail) เริ่มทดลองในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 2530 โดยเชื่อมต่อระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ไปยังมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตเลียผ่านสายโทรศัพท์ซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องความเร็ว จนกระทั่งปี 2537 มีบริษัทเอกชนร่วมกับการสื่อสารแห่งประเทศไทยเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ผู้สนใจทั่วไป จัดตั้งขึ้นเป็นบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเชิงพาณิชย์ (Internet Service Provider) ในยุคแรกบริการอีเมลต้องใช้โปรแกรมเทลเน็ต (Telnet) ในระบบดอส และเปลี่ยนเป็นเว็บเบสเมล (Web-based Mail) วันนี้ความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านบริการเอดีเอสแอล (ADSL = Asymmetric Digital Subscriber Line) มีความเร็วเริ่มต้นที่ 2 Mbps ซึ่งเร็วพอที่จะแนบแฟ้มภาพยนต์ หรือแฟ้มเพลงไปกับอีเมลที่ส่งไปให้เพื่อนในอินเทอร์เน็ตได้แล้ว จุดเด่นของอีเมล คือ ผู้รับเปิดอ่านเมื่อใดก็ได้ ส่งข้อมูลได้ทั้งภาพและเสียง เขียนครั้งเดียวแต่ส่งถึงผู้รับจำนวนมากได้ มักไม่สูญหายไประหว่างทาง สามารถกรองจดหมายไม่พึงประสงค์ออกจากกล่องรับจดหมายได้ บางระบบสามารถส่งข้อความกลับไปให้ผู้ส่งเมื่อผู้รับเปิดอ่าน
หากถามถึงการแข่งขันระหว่างจดหมายติดสแตมป์กับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ก็คงต้องตอบว่าอยู่กันคนละเวทีไม่สามารถแข่งกันได้ ยังมีประชาชนมากกว่าครึ่งประเทศที่ไม่เคยใช้อินเทอร์เน็ต ไม่ทราบว่าอีเมลคืออะไร จึงไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีประเภทนี้ได้ ยังมีเอกสารอีกมากมายที่ต้องส่งเป็นเอกสาร หรือจดหมายติดแสตมป์ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ใบเสร็จทางการเงิน และจดหมายปกติ ส่วนกลุ่มผู้ใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ก็มีอยู่ไม่น้อย เช่น ครู นักเรียน พนักงานบริษัท ข้าราชการ และผู้ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานของประเทศ ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ไม่มีวันทดแทนจดหมายไปรษณีย์ได้โดยสิ้นเชิง