thaiall logomy background

จริยธรรมสำหรับผู้บริหาร - สื่อสารอะไรกับใครต้องปรับให้เหมาะกับผู้รับ4ทิศ

my town
ธรรมะ | ครู | สื่อ | ผู้บริหาร | พยาบาล | สาธารณสุข | เทคนิคการแพทย์ | ทันตแพทย์ | กฎหมายไอที | ศีล 5 | ผลกระทบ PDPA | งานมอบหมาย | เพิ่มประสิทธิภาพ |

40. สื่อสารอะไรกับใคร ต้องปรับให้เหมาะกับผู้รับ 4 ทิศ

ในทุกวันคนเรามี การสื่อสาร (Communication) ระหว่าง คน กลุ่มคน เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูล หรือ การทำความเข้าใจระหว่างกันในด้านต่าง ๆ อาจมีทั้ง การใช้ถ้อยคำ (Verbal) คำเขียน (Written) หรือ การสื่อสารไม่ใช้ถ้อยคำ (Non-verbal) ที่หมายถึง สีหน้า แววตา น้ำเสียง ท่าทาง ภาษากาย การแสดงสัญลักษณ์ และ อาจรวมถึง การสื่อสารในยุคปัจจุบันที่ใช้เทคโนโลยี มาประกอบการสื่อสารด้วย ล้วนมีความสำคัญในการเชื่อม "คน ถึง คน" ที่ละเอียดอ่อน และ จะต้องพิจารณาว่าสื่อสารกับใคร
ทิศทางการสื่อสารในองค์กรจะมี 4 ทิศทาง ได้แก่
1) การสื่อสารบนลงล่าง (Downward Communication)
เป็นการสื่อสารจากหัวหน้าสู่ผู้ใต้บังคับบัญชา ส่วนใหญ่จะเป็น คำสั่ง ให้นโยบาย การออกกฎ ข้อบังคับ การแนะนำ การสอนงาน ให้คำปรึกษา
แนวทางการสื่อสาร :
- ความชัดเจน
- พร้อมให้การสนับสนุน และ กำลังใจ
- สร้างความท้าทาย และ ความสร้างสรรค์
2) การสื่อสารล่างขึ้นบน (Upward Communication)
เป็นการสื่อสารจากทีมงานสู่ระดับที่สูงขึ้น โดยจะเป็นการสื่อสารที่ แจ้งให้ข้อมูลกลับ ตอบสิ่งที่ต้องการทราบ รายงานผล ขอคำแนะนำ ขอนโยบาย ขอคำตัดสินใจ แจ้งปัญหา ขอการสอนงาน
แนวทางการสื่อสาร :
- ให้รายละเอียด และ ผลสรุปที่ชัดเจน
- ให้เกียรติ และ เชื่อมั่น
- มีรายละเอียดทุกมิติเพื่อพิจารณา และ เสนอแนะได้
3) การสื่อสารแนวนอน (Horizontal Communication)
เป็นการสื่อสารในระดับเดียวกัน ตามระดับตำแหน่งเท่ากัน เช่น ผู้จัดการระหว่างฝ่าย หรือ ทีมงานที่ทำงานทีมเดียวกัน เป็นต้น ซึ่งอาจจะหมายถึงการสื่อสารเป็นกลุ่ม คณะทำงาน ก็ได้ โดยจะเป็นการสื่อสาร ช่วยกันวางแผน แนวทางดำเนินงาน ชี้แจง หรือ หาข้อสรุปในการทำงานระหว่างส่วนต่าง ๆ ใน งาน โครงการ แผนระยะต่าง ๆ ขององค์กร
แนวทางการสื่อสาร :
- ให้ความจริงใจ และ เป็นกันเอง
- ชัดเจน และ ตรงประเด็น
- เน้นสานสัมพันธ์ และ มิตรภาพเป็นสำคัญ
- พร้อมรับฟัง เปิดกว้าง และ หาแนวทางร่วมกัน
4) การสื่อสารแนวทแยงมุม (Diagonal Communication)
เป็นการสื่อสารต่างส่วนงานกัน และ อยู่ระดับต่างกัน ไม่ได้ขึ้นตรงต่อกัน แต่เป็นการเชื่อมโยงงาน ส่วนใหญ่เพื่อความรวดเร็ว และ ไม่เป็นทางการ เหมาะกับที่ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่ต้องรออนุมัติ หรือ ตามระบบ เช่น ผู้จัดการฝ่าย คุยกับ พนักงานที่ทำงานต่อกันระหว่างฝ่าย เป็นต้น
แนวทางการสื่อสาร :
- สื่อสารเพื่อเสริมสัมพันธภาพ
- เน้นการสื่อสารเพื่อเสริมงานต่อกัน
- สร้างบรรยากาศที่ดีต่อกันมากกว่าเนื้องาน เพื่องานที่สำคัญในเรื่องอื่น ๆ ต่อกันได้ดี
นอกจากนี้ การสื่อสารยังมีบทบาทกับ ชีวิตประจำวัน "คนรอบตัว (Surrounded Person)" เช่นกัน ทั้ง ครอบครัว พี่น้อง สามี ภรรยา ลูกหลาน เพื่อน คนรู้จักในสังคม ซึ่งเราอาจจะนำมาปรับใช้ และ การวางตัวได้ เช่น
- การสื่อสารบนลงล่าง : สื่อสารกับ น้อง ลูก หลาน เด็ก ๆ หรือ คนในสังคมที่อายุน้อยกว่า
- การสื่อสารล่างขึ้นบน : สื่อสารกับ พ่อแม่ ลุงป้าน้าอา ญาติผู้ใหญ่ หรือ คนในสังคมที่อาวุโสกว่า
- การสื่อสารแนวนอน : สื่อสารกับเพื่อน ญาติ ๆ ที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน หรือ ห่างกันไม่มาก
- การสื่อสารแนวทแยงมุม : อาจหมายถึง กลุ่มคนที่อายุแตกต่างกัน และ มีความสัมพันธ์ที่ไม่สนิทมากในสังคม หรือ คนที่เราพบเจอในสถานการณ์ต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม การสื่อสารในชีวิตประจำวันกับคนรอบตัว จะมีระดับของการสื่อสารไม่เป็นทางการ (Informal Communication) เท่ากับการสื่อสารในงาน
ทุกวันนี้ ท่านสื่อสารใน 4 ทิศทางกับคนในองค์กรที่ทำงานด้วยอย่างไร และ มีการสื่อสารแบบไหนกับคนในชีวิตประจำวัน ดีอยู่ หรือ ไม่
ด้วยความปรารถนาดี
ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์
26 ตุลาคม 2564

Thaiall.com