thaiall logomy background

กระดานแสดงความคิดเห็น

my town

ปัญหาหนึ่งของมนุษย์ตามชื่อบทความ คือ สร้างสรรค์งานเขียนไว้มากมาย แต่ขาดความสามารถในการจัดเก็บ แก้ไขให้ทันสมัย เผยแพร่ใหม่ และมีระบบสืบค้น งานเขียนที่ไม่สามารถถูกค้นพบได้อีกอาจเรียกว่างานเขียนที่ตายแล้ว มีงานเขียนมากมายถูกตีพิมพ์เผยแพร่ และพบจุดผิดพลาดในภายหลัง การเรียกคืนกลับมาแก้ไขแล้วส่งกลับไปให้ผู้อ่านเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หนึ่งในวิธีลดความเสียหาย คือ นำผลงานที่เคยตีพิมพ์มาแก้ไข แล้วส่งไปเผยแพร่อีกครั้งในอินเทอร์เน็ต เพื่อสะดวกในการสืบค้น แก้ไขใหม่ และเผยแพร่สู่สังคมโลก ดังที่พบใน manager.co.th, thairath.co.th หรือ arip.co.th เป็นต้น

หลายปีก่อน ถ้าจะหาข่าวในประเทศไทยสักเรื่องที่ถูกตีพิมพ์ไปแล้ว 3 เดือน อาจเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะขาดระบบจัดเก็บ และค้นคืนในภายหลัง ส่วนนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาส่วนหนึ่งที่ต้องทำงานส่งอาจารย์ประจำวิชาจากการเรียนในหลักสูตร 40 กว่าวิชาตลอด 4 ปี ย่อมได้ผลงานเป็นรายงาน หรือโครงงานใหญ่เล็กมากมาย มักไม่ให้ความสำคัญกับผลงานชิ้นโบว์แดงเหล่านั้น หรือทิ้งลงถังขยะหลังจากสำเร็จการศึกษา เป็นที่น่าเสียดายที่พวกเขาไม่หาวิธีจัดเก็บสิ่งมีค่า ขาดความตั้งใจที่จะเก็บ และเผยแพร่ให้สังคมได้คัดลอกไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป

กลับมาพิจารณาสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือ หรือตำราเรียน ที่พบข้อผิดพลาดอยู่เสมอ ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งจากความผิดพลาดของมนุษย์ (Human Error) หรือเครื่องจักร (Machine Error) หลังจากตีพิมพ์ไปแล้ว ย่อมเรียกคืนกลับมาแก้ไขไม่ได้ วิธีหนึ่งที่ทำได้ในฐานะเจ้าของงานเขียน คือ นำผลงานมาทบทวน แล้วส่งกลับไปเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตอีกครั้ง ตัวอย่างเว็บไซต์ส่วนตัวที่เผยแพร่ผลงาน หรือประสบการณ์ เช่น thaiall.com/itinlife หรือ drkanchit.com เป็นต้น ส่วนสำนักพิมพ์มักมีเว็บไซต์รวมผลงานนักเขียนของตน เช่น dailynews.co.th หรือ kwanruen.com เป็นต้น

งานเขียนก็เหมือนร้านอาหาร เมื่อพบร้านที่ดีก็ต้องรีบเข้าไปใช้บริการ ในลำปางมีร้านอาหารมากมาย ส่วนหนึ่งปิดบริการเพราะปัญหาเศรษฐกิจ เมื่อมีโอกาสสนทนาเรื่องร้านอาหารในลำปาง ผู้เขียนภูมิใจที่จะบอกว่าร้านอาหารที่ปิดหลายร้านได้เคยไปอุดหนุนมาแล้ว งานเขียนก็เช่นกัน เมื่อพบหนังสือดีก็ต้องซื้อไว้ เพราะหนังสือมากมายถูกตีพิมพ์เพียงครั้งเดียว มีขายในบางร้าน หรือมีในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น นักเขียนที่เข้าใจปัญหานี้ จึงนำผลงานไปเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต เมื่อ google.com เข้ามาพบข้อมูลก็จะนำไปใส่ในฐานข้อมูลเว็บไซต์ เพื่อบริการสืบค้นให้กับผู้ใช้ได้พบข้อมูลที่ต้องการ บทความที่พบในคอลัมน์นี้สามารถสืบค้นได้จากอินเทอร์เน็ต ถ้าท่านใดต้องการเผยแพร่ผลงานของตนเอง สามารถทำได้โดยแปลงสิ่งที่อยู่ในกระดาษเป็นแฟ้มดิจิทอล แล้วส่งเข้าไปเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต

การทำให้งานเขียนไม่หายไปจากดาวสีน้ำเงิน (Blue Planet) และสืบค้นได้จากอินเทอร์เน็ต มีหลายวิธี และควรใช้ทุกวิธี เพราะไม่มีวิธีใดดีที่สุด แต่การใช้ทุกวิธีเท่าที่ทำได้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด เช่น จัดตั้งเว็บไซต์ของตนเอง ใช้เว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ ขอพื้นที่โฮมเพจฟรี ขอพื้นที่บล๊อก (Blog) ส่งผลงานเข้าเว็บบอร์ด ส่งอีเมลถึงเพื่อน นำผลงานเขียนลงซีดีแล้วจำหน่ายพร้อมหนังสือ หรือแปลงเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Book) เพื่อนำไปใช้ในคอมพิวเตอร์มือถือ เป็นต้น


จากคุณ : บุรินทร์ .
10:13pm (21/05/06)
ทความเกี่ยวกับไอทีในชีวิตประจำวัน (Information Technology in Life) ถูกเขียนลงในหนังสือพิมพ์ฅนเมืองเหนือ เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ เริ่มเขียนปลายปีพ.ศ. 2549 จนถึงมิถุนายน พ.ศ.2560 รวมได้ 611 บทความมีโฮมเพจอยู่ที่ http://www.thaiall.com/itinlife และ http://www.thaiall.com/opinion เพื่อเป็นแหล่งแบ่งปันเรื่องราวที่ได้พบ ได้อ่าน ได้ปฏิบัติ แล้วนำมาเรียบเรียงแบ่งปันแก่เพื่อนชาวไทย และส่งให้กองบรรณาธิการนำไปตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของจังหวัดลำปาง
Opinion แปลว่า ความคิดเห็น วาทะ ความเชื่อ ที่สามารถสะท้อนออกมาให้อยู่ในรูปของวรรณกรรม หรืองานเขียน ที่เรื่องราวจะถูกร้อยเรียงเป็นตัวอักษร ไล่เรียงตามลำดับให้ได้รู้และเข้าใจความคิดความเห็น ที่ไม่เลือนหายไปตามเวลาเหมือนความทรงจำ
version 1.3 (15 ตุลาคม 2566)
Thaiall.com
Thaiall.com