วัดมิ่งเมืองมูล | วัดจองคา | วัดไชยมงคล | วัดไหล่หิน | มนู | ราตรี | ทรงศักดิ์ | สุดา | สุวรรณ | ไหล่หิน | |
สารบัญ
- สวดมนต์ข้ามปี 2554 - รวมภาพบวชเณรภาคฤดูร้อน 2552 - 5 พ.ค.52 กลุ่มออมทรัพย์วันละบาท - 5 พ.ค.52 การทำบัญชีครัวเรือน - 12 พ.ค.52 การพัฒนาชุมชนผ่านบทบาทพระสงฆ์ - 2 ม.ค.52 รวมภาพจากงานรุกขมูล - 2551 เล่าเรื่องการจัดการงานศพ - ประวัติวัด
google ภาพขยาย พระครูสังฆรักษ์วิชพงษ์ เจ้าอาวาส แนะนำเว็บไซต์ แผนที่เข้าวัดชัยมงคลธรรมวราราม วัดชัยมงคลธรรมวราราม ประวัติวัดไหล่หินหลวง โดย photoontour.com |
31 ธ.ค. 54 สวดมนต์ข้ามปี
วัดป่าชัยมงคล ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง ร่วมจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี ในวันส่งท้ายปีเก่า สนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ตามที่ มหาเถรสมาคม(มส.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ร่วมกับรัฐบาลจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี ในวัดทั้งในและต่างประเทศ วัดนี้จัดกิจกรรมเดินจงกลม และปล่อยโคมลอย ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวภาคเหนือว่า การปล่อยโคมลอยจะเป็นการปล่อยเคราะห์ และจะประสบแต่โชคดีหลังปล่อยโคมลอยไปแล้ว ครอบครัวในหมู่บ้าน จะพากันนำบุตรหลานไปทำกิจกรรมร่วมกันที่วัด ซึ่งถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน ตามข่าวจากส่วนกลางพบว่า นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า จากการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการ พบว่า มีพุทธศาสนิกชนเข้าวัดสวดมนต์ข้ามปี ทั่วประเทศมากกว่า 1 ล้านคน เฉลี่ย 1 จังหวัด 20 วัดมีประชาชนไปสวดมนต์วัดละ 10,000 คน แค่เพียงที่วัดสระเกศ ศูนย์กลางของกรุงเทพฯ ก็ไม่ต่ำกว่า 30,000 คนแล้ว http://www.youtube.com/embed/bbxSW7KJhEE |
รวมภาพบวชเณรภาคฤดูร้อน 2552 ระหว่าง17-27 มีนาคม 2552
http://chaimongkol.forumth.com/forum-f4/topic-t5.htm |
5 พ.ค.52 21.00น. - 22.00น. กลุ่มออมทรัพย์วันละบาท |
ได้ฟังบรรยายเรื่อง "กลุ่มออมทรัพย์วันละบาท" มีวิทยากรคือหัวหน้ากลุ่มออมทรัพย์วันละบาท ของต.ป่าตัน ได้รับเชิญจากพระครูสังฆรักษ์วิชพงษ์ให้บรรยายเรื่องการทำกองทุนสวัสดิการชุมชน โดยมาในชื่อ "การประชุมสัมมนา สร้างกระบวนการเรียนรู้การจัดสวัสดิการชุมชน" สนับสนุนโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงาน การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลำปาง (พมจ.) วิทยากรเล่าว่าออมกันวันละบาทต่อคนจ่ายทุกต้นเดือนก็เพียง 30 บาท มีนโยบายจ่ายเพียง 10 ปี ก็ตกอยู่ที่ 3600 บาทเท่านั้น หลังจาก 10 ปีก็จะได้รับความคุ้มครองตลอดไป ถ้าเสียชีวิตก็รับเงิน 3600 บาทคืนไปได้เลย แต่กองทุนนี้จะมีนโยบายอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการพูดคุยกันในชุมชน ในลำปางมีกองทุนที่เข้มแข็ง 3 พื้นที่ คือ อ.เถิน อ.แม่พริก และต.ป่าตัน เพราะเป็นพื้นที่นำร่องที่ภาครัฐ และอบต. จะจ่ายเงินสมทบให้ เช่นออมมา 10 ปีจ่ายไป 3600 บาท ก็จะได้อีก 3600 + 3600 บาท รวมเป็น 10800 บาทญาติก็จะรับไปเมื่อเจ้าตัวเสียชีวิต นอกจานี้กลุ่มยังสามารถเขียนโครงการส่งเข้าไปรับการพิจารณาของบประมาณมาพัฒนาชุมชน ได้ทุกเดือนจาก พมจ. สำหรับตัวอย่างที่กองทุนจัดสวัสดิการให้คนชุมชน เช่น มีเงินวันละ 100 บาทถ้าต้องนอนโรงพยาบาลแต่ไม่เกิน 500 บาท และไม่เกิน 2 ครั้ง เป็นต้น ส่วนระบบฐานข้อมูลจะใช้คอมพิวเตอร์ ใช้สมุดแบบธนาคาร หรือใช้ระบบใดก็ได้ หากใช้ระบบคอมพิวเตอร์ก็จะมีวิทยากรจากเชียงใหม่ หรือสนใจไปดูงานทาง พมจ. ก็จะมีงบประมาณค่าเดินทางให้คนในหมู่บ้านไปดู เพื่อนำมาพัฒนากลุ่มต่อไป + http://www.thaiall.com/blog/burin/304/ |
5 พ.ค.52 20.00น. - 21.00น. การทำบัญชีครัวเรือน |
ได้ฟังบรรยายเรื่อง "การทำบัญชีครัวเรือน" มีวิทยากรคือหัวหน้าฝ่ายสินเชื่อดูแลเขตอำเภอเกาะคา ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธ.ก.ส. ท่านย้ายมาเมื่อวันที่ 16 เม.ย.52 อาศัยอยู่อ.ห้างฉัตร และได้รับเชิญจากพระครูสังฆรักษ์วิชพงษ์ให้มาร่วมกันทำ "โครงการจัดทำบัญชีครัวเรือนสู่แผนพัฒนาชุมชน" ที่จัดโดยวัดชัยมงคลธรรมวรารามร่วมกับ ธ.ก.ส. มีคนในบ้านไหล่หินหมู่ 6 เป็นส่วนใหญ่นำโดยพ่อกำนัน มาร่วมประมาณ 40 ถึง 50 คน เท่าที่สังเกตุจะเป็นกลุ่มแม่บ้าน เพราะมีการตั้งโต๊ะเก็บเงินสมาชิกกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ผมได้ความรู้วิธีการทำบัญชีครัว โดยใช้สมุดเล่มเขียวมีกิจกรรมให้บันทึกทุกวัน ประกอบด้วย 5 ช่องคือ วันที่ กิจกรรม รายรับ รายจ่าย และหมายเหตุ ยังมีเรื่องหม้อที่รับน้ำเข้า และจะอุดรอยรั่วอย่างไรไม่ให้น้ำไหลออกมากเกินไป เรื่องนี้ทาง ธ.ก.ส.สนับสนุนมาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว เพราะเห็นว่าทั้งประเทศแจกไปหลายล้านเล่ม วิทยากรเล่าว่าการที่ธนาคารเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาชุมชน เพราะธนาคารมิได้มีหน้าที่เพียงปล่อยกู้ แล้วตามทวงหนี้ แต่ต้องสนับสนุนให้คนในชุมชน หรือลูกหนี้ รู้จักทำอาชีพ รู้จักการใช้เงิน และออมเงินอย่างเป็นระบบ หากทุกคนเข้าใจการออมเงิน รู้ซึ้งคำว่าพอเพียงแล้ว ย่อมทำให้การพัฒนาชุมชนตามที่วางแผนไว้ในโอกาสต่อไป สามารถดำเนินการได้ง่าย จนทำให้การแก้ปัญหาความยากจน บำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างชุมชนน่าอยู่ และมีความสุขอยู่ไม่ไกล ในตอนท้ายพระครูแจ้งว่าทาง ธ.ก.ส.เคยประกวดและให้บ้านเป็นรางวัลราคา 5 แสนแก่ผู้ที่เขียนได้ดี สำหรับในหมู่บ้านไหล่หิน พระครู จะมีรางวัลให้แต่เป็นอะไรขออุบไว้ก่อน ก็คงมีรายละเอียดในการประชุมหมู่บ้านครั้งต่อไปของพ่อกำนัน ผมสังเกตุว่าพระครูท่านฉันท์ข้าวมื้อเดียว และสวมชุดสีเดียว หากคนไหล่หิน ลดจำนวนมื้ออาหารลงสักหนึ่งมื้อ และลดปัจจัยปรุงแต่งลงบ้าง ก็คงลดค่าใช้จ่ายไปได้มาก เพื่อลดความต้องการ ลดความอยากลงนิดหนึ่ง ความสุขจากความรู้จักพอก็จะเพิ่มขึ้นตามมา + http://www.thaiall.com/blog/burin/299/ |
12 พ.ค.52 การพัฒนาชุมชนผ่านบทบาทพระสงฆ์ |
เปิดประชุม 2 ทุ่มตรงในอังคารที่ 12 พ.ค.52 พระครูสังฆรักษ์วิชพงษ์ เชิญชวน ผู้นำจากบ้านหมู่ 2 และหมู่ 6 ตำบลไหล่หิน ทั้งกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอสม. กลุ่มผู้สูงอายุ ครูจาก 2 โรงเรียน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และอาจารย์มหาวิทยาลัย อาทิ อ.ธวัชชัย แสนชมพู อ.อัศนีย์ ณ น่าน มีผู้ร่วมประชุมมากกว่า 50 คน มารับนโยบาย หลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์ รับทราบแผนการดำเนินงานโครงการ และกำหนดการ เพราะโครงการจะได้รับอนุมัติ 1มิ.ย.52 - 31พ.ค.53 ได้ชมวีดีโอบทเรียนการพัฒนาทั้งในและต่างประเทศ โครงการนี้ได้รับอนุมัติจาก สสส. มีชื่อโครงการคือ "โครงการร่วมสร้างหมู่บ้านพอเพียง เพื่อรากฐานที่ยั่งยืน" ผ่าน "กลุ่มธรรมะสว่างใจบ้านไหล่หิน" ที่พระครูเป็นประธานกลุ่ม ที่ทำการตั้งอยู่ที่วัดชัยมงคลธรรมวราราม โครงการที่มีการนำเสนอว่าจะดำเนินการโดยสรุปมี 8 โครงการคือ 1) ลดรายจ่าย อาทิ ปลูกผักปลอดสาร และบัญชีครัวเรือน 2) แยกขยะ 3) อบรมคุณธรรม 4) กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ 5) ครอบครัวอบอุ่นกิจกรรมวันอาทิตย์ 6) ออกกำลัง และกินเพื่อสุขภาพ 7) ปลูกจิตสำนักรักบ้านเกิด 8) พัฒนากลุ่มอาชีพ ซึ่งทุกโครงการเกิดจากการที่ท่านวิเคราะห์ SWOT ของวัด และชุมชน โดยสอดรับกับข้อสรุปวัตถุประสงค์ 3 ข้อของโครงการ คือ 1) สร้างเสริมสุขภาพและพึ่งตนเอง 2) มีคุณธรรม ลด ละ เลิกสิ่งเสพติด 3) มีครอบครัวอบอุ่น มีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ใช้เวลาประชุมตั้งแต่ 20.00น. ถึง 22.15น. กว่าผมจะขับรถถึงบ้านก็ 23.00น. พอดี + http://www.thaiall.com/blog/burin/242/ + http://www.thaihealth.or.th/node/7061 |
2 ม.ค.52 รวมภาพจากงานรุกขมูล | |
ผู้เรียบเรียงประวัติวัดไหล่หินลุ่ม
พ่อหลวงดวงจันทร์ ครุขยัน ปราชญ์ชาวบ้าน และศรัทธาของวัด youtube.com video
ประวัติ วัดชัยมงคลธรรมวราราม (ไหล่หินใหม่ ธ.) หรือ วัดไหล่หินลุ่ม
| ตำบลไหล่หิน อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง เรียบเรียงโดย สามเณรดวงจันทร์ ครุขยัน + เว็บมาสเตอร์ได้รับซีดีจากพ่อหลวงดวงจันทร์ ครุขยัน จึงนำข้อมูลเพียงส่วนหนึ่งมาเผยแพร่ เป็นวิทยาทาน + ถ้าต้องการข้อมูลทั้งหมดก็ขอให้ติดต่อพ่อหลวงดวงจันทร์ได้ ท่านมีข้อมูลมากมายในตัวท่าน กิระ ดังได้ยินมาว่า วัดชัยมงคลธรรมวราราม (ไหล่หินใหม่ ธ.) ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง ห่างจากที่ว่าการอำเภอเกาะคาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 6 ก.ม. เศษ มีน้ำแม่ยาวไหลผ่านเปรียบเหมือนเป็นสายโลหิตหล่อเลี้ยงของชาวไหล่หินก็ไม่ผิด (โหล่งยาว) อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร และมากไปด้วยน้ำใจที่ดีงาม ชุ่มฉ่ำ เยือกเย็น ประดุจดั่งสายน้ำในลำน้ำแม่ยาว พร้อมทั้งร่มเงาของเหล่าต้นไม้ยางที่ยืนตระหง่าน สูงเฉียดฟ้า และมองไปทางทิศ เหนือ ใต้ ออก ตก ก็มองเห็นหมู่บ้าน ทุ่งนา อันกว้างใหญ่ไกลลิบลิ่วสุดลูกหูลูกตา มองเห็นป่าไม้ ภูเขาเขียวขจีทำให้ชวนถวิลเป็นยิ่งนัก ยิ่งไปกว่านั้นชาวไหล่หินเขตคาม ยังมีวัดในพระพุทธศาสนาถือเป็นปูชนียสถานเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจถึง 2 วัด และเพรียกพร้องไปด้วยเสียงนกเสียงกา และผู้คนพูดจากันด้วยสำเนียงอันนุ่มนวลอ่อนหวานน่าฟังเป็นยิ่งนัก พร้อมทั้งมีสถานศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม ฉะนั้นส่วนใหญ่จึงเป็นสำนักของนักปราชญ์ นักปฏิบัติธรรม แตกฉานในธรรมะ เพื่อเผยแผ่พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โปรดแก่คณะศรัทธาญาติโยม เป็นสิ่งที่เราภูมิใจไปตลอดกาลนิรันดร์และมีปูชนียสถานที่น่าสนใจของชาวพุทธเราอีกวัดหนึ่ง นั่นคือ"วัดชังมงคลธรรมวราราม"(ไหล่หินใหม่ ธ.) อนุสนธิ เนื่องจากวัดชัยมงคลธรรมวราราม หรือวัดไหล่หินใหม่ ธ. เดิมทีเป็นที่นา และบางส่วนเป็นสันดอน สำหรับปลูกสวนครัว ต่อมาปี พ.ศ. 2479 ท่านพระครูธรรมาภิวงค์ นั้นโดยเฉพาะบ้านไหล่หิน เป็นถิ่น ปิตุ และมาตุภูมิของท่าน ได้อุปสมบทวัดไหล่หินหลวง และได้ไปเรียนหนังสืออยู่ที่วัดบรมนิวาสวิหาร กรุงเทพมหานคร แล้วกลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดเชตวัน ในเมืองลำปาง ซึ่งเป็นวัดธรรมยุตนิกาย ส่วนวัดไหล่หินหลวง เป็นวัดฝ่ายมหานิกายไม่สะดวกในการกระทำสังฆกรรมท่านเป็นเจ้าคณะอำเภอในจังหวัดลำปาง ธ. ต่อมาได้เลื่อนเป็นเจ้าคณะจังหวัดลำปาง ปี พ.ศ. 2479 โดยมีศรัทธาผู้เลื่อมใสในท่านพระครู อันแรงกล้า คือ พ่อผู้ใหญ่หน้อยป้อ แม่จุ่ม (ลูกสาวของพระยาต๊ะ) ครุขยัน ได้บริจาคที่ดินดังกล่าว เพื่อสร้างวัด ถวายท่านพระครู และเป็นที่พำนักของพระภิกษุสงฆ์ สามเณร ฝ่ายธรรมยุติ และในปีดังกล่าวท่านพระครูได้ใช้เป็นสถานที่ตั้งบำเพ็ญกุศลศพโยมมารดาของท่าน ปี พ.ศ. 2480 หมายมีพ่อผู้ใหญ่หน้อยป้อ แม่จุ่ม ครุขยัน ได้เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะสรัทธาสาธุชนประมาณ 60 หลังคาเรือนได้พร้อมใจกันเป็นเอกฉันท์ ได้อาราธนานิมนต์พระคุณเจ้าท่านพระครูธรรมาภิวงค์ มาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ในการริเริ่มก่อสร้างวัดไหล่หินใหม่ ในสถานที่ดังกล่าว ท่านพระครูก็ได้รับสนองศรัทธาสาธุชนด้วยความเมตตาธรรม รับเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ท่านก็ริเริ่มด้วยการสร้างเป็นสำนักสงฆ์ก่อน เพราะต้องดำเนินการขออนุญาตต่อกรมการศาสนาเพื่อจะได้สร้างวัดในโอกาสต่อไป ปี พ.ศ. 2481 คณะศรัทธาผู้มีจิตเป็นกุศล โดยมีผู้ใหญ่หน้อยป้อ ครุขยัน เป็นประธานฝ่ายฆารวาสได้ริเริ่มสร้างกุฏิสงฆ์ขึ้น 2 หลัง และได้สร้างศาลาการเปรียญเพื่อเป็นที่สำหรับบำเพ็ญบุญตามเทศกาล และในวันพระ(วันศิล) อีก 1 หลัง โดยสร้างเป็นการชั่วคราว สร้างด้วยไม้ไผ่ มุงด้วยหญ้าคา พร้อมทำสถานที่อำนวยความสะดวกแก่คณะศรัทธาผู้มาแสวงบุญพอสมควรแก่อัตภาพ พอให้พระภิกษุ สามเณร ได้จำพรรษาไปก่อน พอออกพรรษาแล้วในปีเดียวกันก็เกิดอัคคีภัย (ไฟไหม้) โดยไม่ทราบสาเหตุจากผู้ที่ไม่หวังดี เป็นอัคคีภัย ครั้งที่ 1 คณะศรัทธาก็ได้ซ่อมแซม และได้สร้างใหม่ถวายอีกครั้ง ในปีเดียวกัน พ.ศ. 2481 ก็ได้สร้างกุฏิถาวรขึ้นอีก 2 หลัง โดยได้บอกบุญแก่คณะศรัทธาสาธุชนช่วยกันไปหาไม้เท่าที่จะหาได้ในป่าใกล้หมู่บ้าน เพื่อจะนำมาสร้างกุฏิถวายแต่พอหาวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสาร้างพร้อม ก็ได้ลงมือก่อสร้าง ในขณะที่ทำการก่อสร้างได้มีผู้ไม่หวังดีไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้ มายึดไม้ไปทั้งหมด จึงเป็นคดีความในสมัยนั้น ทางคณะศรัทธาโดยมีผู้ใหญ่หน้อยป้อ ครุขยัน เป็นประธานได้มอบหมายให้พ่อน้อยสุข ภักตรา เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว ทางคณะศรัทธาก็ได้เรี่ยไรเงินได้ตามจำนวนที่จะเสียค่าปรับ โดยมอบหมายให้ พ่อผู้ใหญ่หน้อยป้อ ครุขยัน และพ่อหน้อยสุข ภักตรา ไปชำระคดีความให้กับทางการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้นำวัสดุอุปกรณ์ที่ทางการยึดไปนำมาสร้างกุฏิจนสำเร็จบริบูรณ์ และได้ทำการถวายเป็นของสงฆ์เพื่อจะได้เป็นที่พำนักปฏิบัติธรรมสืบต่อพระพุทธศาสนาสืบต่อไป การก่อสร้างแต่ละครั้ง แต่ละหลัง เป็นความศรัทธาพร้อมความเพียรพยายามอันสูงที่จะกระทำได้ในสมัยนั้น เพราะเป็นสมัยที่ข้าวยากหมากแพง หาเช้ากินค่ำ ยังเสียสละเวลา และทรัพย์สิน แรงงาน ของตนเอง สำหรับพ่อหลวงสม เทพหินลัพ ไม้ทับขาของตนเองจนขาหักก็ตอนที่ไปหาไม้มาสร้างกุฏิคราวนี้แหละ เพราะมีจิตศรัทธาอันแรงกล้าเพื่อที่จะสร้างกุฏิถวายเป็น ศาสนสมบัติ และเชิดชูพระพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้รุ่งเรืองจึงได้เสียสละทุกสิ่งทุกอย่างโดยแท้ ปี พ.ศ. 2483 เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันไม่สมควรที่จะเกิดก็เกิดขึ้นอีกจนได้ ทำให้จิตใจของคณะศรัทธาเกิดความเสียใจขึ้นอีกครั้ง พอถึงเดือนกันยายน ปีเดียวกันก็ได้เกิดอัคคีภัย(ไฟไหม้)ขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 2 โดยผู้ไม่หวังดีได้มาวางเพลิงอีก ทำให้กุฏิทั้ง 2 หลังถูกเผาเป็นเถ้าถ่าน พร้อมกันนี้มีพระพุทธรูปทอง หน้าตักกว้าง 1 ศอก สูง 1 ศอกครึ่ง พร้อมธรรมาสน์หลังใหญ่ประดับกระจก 1 หลัง และของมีค่าอีกจำนวนมาก เป็นความเสียหายอันใหญ่หลวงของวัด เพราะผู้ไม่หวังดีต่อพระพุทธศาสนา ปี พ.ศ. 2483 -2484 คณะศรัทธาไม่ละความพยายามในการก่อสร้างกุฏิสงฆ์ เพราะด้วยแรงศรัทธาอันแรงกล้า ได้รวบรวมเงินไปซื้อบ้านของชาวบ้านทุ่งขาม 1 หลัง นำมาสร้างกุฏิสงฆ์ได้ 2 หลัง พร้อมกันนั้นก็ได้ซื้อบ้านของชาวบ้านไหล่หินอีก 1 หลัง นำมาสร้างศาลาการเปรียญได้ 1 หลัง เพื่อใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญบุญในเทศกาลสำคัญและในวันพระ(วันศิล) ความเพียรพยายามของคณะศรัทธาเป็นเลิศ ปี พ.ศ. 2485 กรมการศาสนาได้อนุญาตให้สร้างเป็นวัดได้โดยสมบูรณ์แบบโดยใช้ชื่อวัดว่า "วัดไหล่หินใหม่ ธ." ต่อมาท่านพระพิศิษฏ์ธรรมภาณ (สมาน รามธมฺโม) เจ้าคณะจังหวัดลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ นาน วัดเชตวันในเมืองลำปาง ได้เปลี่ยนเป็นชื่อวัด "ชัยมงคลธรรมวราราม ธ." เพื่อสะดวกในการของบประมาณของกรมการศาสนา ปี พ.ศ. 2485 ท่านพระครูธรรมาภิวงค์ได้เป็นประธานสร้างกุฏิสองชั้น ก่อด้วยอิฐถือปูนเสริมเหล็กใช้เวลาก่อสร้างอยู่หลายปี เพราะเป็นหลังใหญ่ และกำลังศรัทธามีน้อย จนถึง พ.ศ. 2495 จึงสำเร็จ จึงได้ถวายเป็นของสงฆ์ในเดือนมีนาคม 2495 แต่พอถึงเดือนพฤษภาคม ในปีเดียวกันตรงกับเดือน 8 เหนือได้เกิดพายุ (ลมแล้ง) ถึงว่าเป็นวาตภัยครั้งใหญ่ในปีนั้นได้พัดเอากุฏิพังเสียหายทั้งหลังใช้การไม่ได้ ท่านพระครูธรรมาภิวงค์ จึงให้คณะศรัทธาทำการรื้อถอนออกให้หมด ปี พ.ศ. 2496 ท่านพระครูธรรมาภิวงค์ได้เป็นประธานสร้างพระวิหารขึ้นอีก การก่อสร้างยังไม่สำเร็จเพียงแต่ได้มุงหลังคา ยกช่อฟ้า และปานลมขึ้นเท่านั้น ส่วนหลังคาพระวิหารได้เปลี่ยนเป็นกระเบื้องแผ่นเล็กในปี พ.ศ. 2501 ส่วนพระประธานในพระวิหารได้ปั้นพระพุทธรูปองค์ประธาน โดยสล่า จากบ้านขี้เหล็ก อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โดยมีพ่อสล่าหนานใจ พะยอมยงค์ เป็นสล่าเก๊า เพราะตอนนั้นพ่อหนานใจได้มาบูรณะพระวิหารวัดไหล่หินหลวง ในปี พ.ศ. 2496 (จากบทความประวัติวัดไหล่หินหลวง โดยดวงจันทร์ ครุขยัน พ.ศ. 2512) หน้าตักกว้าง 3 ศอก สูง 4 ศอกโดยมีสล่าบ้านไหล่หินช่วยปั้น มีพ่อน้อยแก้วมา นิวาโต พ่อหน้อยหลง วรรณมณี พ่อหนานเกษม ภักตรา ส่วนดินปั้นเป็นเกศาพระประธาน พ่อหนานเกษม ภักตรา และพ่อหน้อยแสน ปะละ ได้นำมาจากลำเหมืองพระยาลำปาง(เหมืองสันป่าตอง) บ้านสันป่าสัก เพราะเป็นดินดำอย่างดี ลำเหมืองดังกล่าวมีโครงการขุดเพื่อจะผันน้ำแม่ยาว นำไปลงลำน้ำแม่แก้ไปลงด้านเหนือและตะวันออกวัดพระธาตุลำปางหลวง เกิดมีการคัดค้านโดยเจ้าต๋นหลวงเมืองยาวและชาวบ้านโป่งขวากดักขวากกันเจ้าพระยาลำปางการผันน้ำจึงไม่สำเร็จจนถึงปัจจุบัน ไม่ทราบ พ.ศ. (อยู่ในสมัยพระยา) การก่อสร้างพระวิหารครั้งนั้นได้มีท่านพระครูพิพัฒน์ศิลาจารย์(บัว ยโสธโร) ขณะนั้นยังไม่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นผู้ช่วยในการก่อสร้างพระวิหารของท่านพระครูธรรมาภิวงค์ มาตลอด ปี พ.ศ. 2502 ท่ารพระครูธรรมาภิวงค์ เจ้าคณะจังหวัดลำปางได้มรณภาพลง ทำให้คณะศรัทธาขาดประธานในการก่อสร้าง และขาดที่พึ่งลง คณะศรัทธามีความเศร้าโศกและอาลัยอาวรณ์เป็นอย่างยิ่งยากที่จะพรรณนาเป็นที่เสียอกเสียใจเป็นอย่างมาก แต่ท่านไม่ได้มรณภาพไปจากใจพวกเรา ท่านไปแต่ร่างกาย แต่คุณงามความดีที่ท่านทำไว้ยังปรากฏ จารึกอยู่ในใจพวกเราชาวพุทธตลอดชั่วกาลนาน ในการจากไปของท่านพระครูธรรมาภิวงค์ ในครั้งนั้นการก่อสร้างได้หยุดชงักลงระยะหนึ่งจนถึงงานพระราชทานเพลิงศพของท่านพระครูฯผ่านพ้นไปในปี พ.ศ. 2503 หลังจากนั้นก็มีท่านพระครูพิพัฒน์ศิลาจารย์ ต่อมาท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์ครั้งสุดท้ายเป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามเป็นที่ พระราชเมธาจารย์ (บัว ยโสธโร) วัดจำทรายมูล อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง เป็นเจ้าคณะจังหวัดลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ในขณะนั้นท่านพระเดชพระคุณท่านจำพรรษาที่วัดชัยมงคลธรรมวราราม (ไหล่หินใหม่ ธ.) ตั้งแต่ พ.ศ. 2498 - 2507 ได้สานต่อในการก่อสร้างทั้งหมดภายในวัด ส่วนพระวิหารสำเร็จลุลวงในปี พ.ศ. 2504 และถวายเป็นศาสนสมบัติสืบต่อไป ปี พ.ศ. 2504 ได้รับวิสุงคามสีมา และได้ฝังลูกนิมิต(พัทธสีมา) ในวันที่ 14 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2525 ต่อจากวัดบ้านจำทรายมูล อ.ห้างฉัตร ปี พ.ศ. 2505 ทางวัดได้ตั้งลวดสลิงข้ามลำน้ำแม่ยาวเพื่อโยงภัตตาหาร ถวายพระภิกษุสามเณร เพราะฤดูน้ำหลาก (น้ำนอง) ไม่สามารถข้ามฟากได้จึงใช้วิธีชักภัตตาหารไปตามเชือกลวดสลิงแทน และในฤดูแม่น้ำยาวขึ้นสูงก่อนจะมีลวดสลิงจึงได้มีศรัทธาผู้ใจบุญท่านหนึ่งได้ว่ายน้ำจากทางบ้านแม่ฮวก นำภัตตาหารมาถวายพระภิกษุสงฆ์สามเณรด้วยมีจิตศรัทธาอันแรงกล้า เพราะกลัวว่าพระท่านจะไม่มีภัตตาหารฉันเลยต้องเอาตัวเองเสี่ยงว่ายน้ำนำมาถวาย ศรัทธาท่านนั้นก็คือ พ่อคำ สมนา ท่านก็เลยได้ฉายาจากชาวบ้านว่า"พ่อคำใจ๋บุญ" มาจนบัดนี้ ปี พ.ศ. 2505 ได้สร้างสะพานไม้ข้ามลำน้ำแม่ยาวเพื่อข้ามไปทำบุญได้สะดวกและชาวบ้านก็ใช้สะพานนี้ไปทำไร่ทำสวน เพราะต้องหาบผลผลิตจากไร่มาเพื่อไปจำหน่ายหาเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานทุกครัวเรือนต้องใช้สะพานนี้ ปี พ.ศ. 2517 ได้สร้างกำแพงชั้นในสมัยพระอธิการบุญเลื่อน ธมฺมธโร (วรรณมณี) ต่อกับพระอธิการแก้วมา ฑีฆายุโก (นิวาโต) ปี พ.ศ. 2520 ได้สร้างศาลาการเปรียญขึ้น โดยมีพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระพิศิษฏ์ธรรมภาณ (สมาน รามธมฺโม) วัดเชตวัน ธ. เจ้าคณะจังหวัดลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน เป็นประธานในการก่อสร้าง ปี พ.ศ. 2525 ได้ปลูกต้นไม้สาละอินเดียหรือสาละลังกา เป็นต้นไม้ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานเมื่อ 2,551 ปีมาแล้ว (ณ พ.ศ. 2551) โดยพระบุญเทม อภิปุญโญ (เดินเมือง) นำมาจากวัดบวรฯ กรุงเทพมหานครโดยปลูก ณ บริเวณปัจจุบัน แล้วพระอธิการแก้วมา ทีฆายุโก (นิวาโต) ย้ายไปปลูกด้านใต้วัด และต่อมาพระครูมงคลชัยสุนทร (จรัญ อคฺคจาโร) วรรณมณี ได้ย้ายมาปลูกตรงที่ปัจจุบันที่เห็นจนทุกวันนี้ นับเป็นต้นไม้มงคลของชาวพุทธเราอีกต้นหนึ่ง ปี พ.ศ. 2528 ก่อสร้างแทงค์น้ำสูง 12 เมตร กว้าง 3 เมตร สิ้นค่าก่อสร้าง 52,300.00 บาท (ห้าหมื่นสองพันสามร้อยบาทถ้วน) ในสมัยพระอธิการจรัญ อคฺคจาโร (วรรณมณี) ปี พ.ศ. 2529 ก่อสร้างกุฏิเจ้าอาวาสแบบทรงไทย สิ้นค่าก่อสร้าง 312,549.00 บาท (สามแสนหนึ่งหมื่นสองพันห้าร้อยสี่สิบเก้าบาทถ้วน) สมัยพระอธิการจรัญ อคฺคจาโร (วรรณมณี) ปี พ.ศ. 2530 - 2532 ได้สร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 3.50 เมตร ยาว 30 เมตร ข้ามลำน้ำแม่ยาวจากบ้านมาวัด สิ้นค่าก่อสร้าง 500,000.00บาท (ห้าแสนบาทถ้วน) สมัยพระอธิการจรัญ อคฺคจาโร (วรรณมณี) และได้ปรับปรุงสถานที่บริเวณวัดตกแต่งให้สวยงามโดยหัวหน้า ร.พ.ช. ลำปาง ในสมัยนั้นคิดเป็นเงิน 30,000.00 บาท (สามหมื่นบาทถ้วน) ปี พ.ศ. 2533 ทางด้านทิศใต้วัด พระอธิการจรัญ อคฺคจาโร (วรรณมณี) ได้บอกบุญแก่คณะศรัทธาทั้งที่ใกล้และไกลโดยการทอดกฐิน, ผ้าป่า รวบรวมปัจจัยซื้อที่นาด้านทิศใต้ประมาณ 1 ไร่เศษ ถวายเป็นเขตธรณีสงฆ์เป็นเงิน 31,000.00 บาท (สามหมื่นหนึ่งพันบาทถ้วน) ปี พ.ศ. 2533 โดยมีพ่อปั๋นแก้ว แม่สมบูรณ์ (แม่น้อย) ชำนาญการได้ปลูกต้นโพธิ์ซึ่งเป็นต้นไม้ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับใต้ต้นมหาโพธิ์ตรัสรู้ ณ ประเทศอินเดียเมื่อก่อนพุทธศักราช 45 ปี รวมแล้วพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ 2,596 ปีมาแล้ว (ณ พ.ศ. 2551)ซึ่งเป็นต้นไม้มงคลของชาวพุทธได้ปลูกด้านใต้ของวัดชัยมงคลธรรมวราราม(ไหล่หินใหม่ ธ.) ดังที่เห็นปัจจุบันและจะยืนต้นสูงตระหง่านคู่กับวัดชั่วนิรันดร ปี พ.ศ. 2534 ได้ก่อสร้างห้องน้ำ(ห้องสุขา) จำนวน 10 ห้อง สิ้นค่าก่อสร้าง 72,000.00 บาท(เจ็ดหมื่นสองพันบาทถ้วน) สมัยพระอธิการจรัญ อคฺคจาโร (วรรณมณี) ปี พ.ศ. 2535 - 2536 ได้บูรณปฏิสังขรณ์ พระอุโบสถครั้งใหญ่ทั้งหลังและได้ให้ช่างวาดรูป พระเวสสันดรชาดก และได้หล่อรูปเหมือนท่านพระครูธรรมาภิวงค์ พร้อมศาลาเพื่อประดิษฐานรูปหล่อของท่านพระครูฯ ส่วนศาลาโดยมีพ่อหลวงเย็น แม่หลวงคำแปง เทพหินลัพ เพื่ออุทิศกุศลให้ ร.ท. ทวีศักดิ์ เทพหินลัพ ใน สมัยพระอธิการจรัญ อคฺคจาโร (วรรณมณี) สิ้นค่าก่อสร้างทั้งหมอ 401,230.00 บาท (สี่แสนหนึ่งพันสองร้อยสามสิบบาทถ้วน) ปี พ.ศ. 2537 - 2538 ได้ก่อสร้างศาลาหอฉัน 2 ชั้น สิ้นค่าก่อสร้าง 399,680.00 บาท(สามแสนเก้าหมื่นเก้าพันหกร้อยแปดสิบบาทถ้วน)ในสมัยพระอธิการจรัญ อคฺคจาโร (วรรณมณี) และในปี พ.ศ. 2538 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรพัดยศ พระครูเจ้าอาวาสวัดราฎร์ชั้นตรีที่ "พระครูมงคลชัยสุนทร" จรัญ อคฺคจาโร และได้เลื่อนในชั้นโทในปีต่อมา พ.ศ. 2540 เป็นเลขาเจ้าคณะจังหวัดลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน (ธรรมยุต) เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง พ.ศ. 2542 เป็นเจ้าคณะตำบลไหล่หิน (ธรรมยุต) ปี พ.ศ. 2537 - 2538 ก่อสร้างกุฏิอินทรวง โดยคุณแม่คำป้อ จากในเมืองลำปาง และสร้างกุฏิวรรณมณี โดยมีศรัทธาคณาญาติสร้างอุทิศถวายแด่แม่หลวง ลามา วรรณมณี ในสมัยพระครูมงคลชัยสุนทร (จรัญ อคฺคจาโร)และได้ปลูกต้นไม้สักไว้ด้วย ปี พ.ศ. 2539 ได้สร้างหอระฆังเฉพาะตัวระฆังโดยมีพ่อปลัดลำดับ วรรณรัตน์ เป็นเจ้าภาพ สิ้นค่าก่อสร้างทั้งหมด 130,000.00 บาท (หนึ่งแสนสามหมื่นบาทถ้วน) สมัยพระครูมงคลชัยสุนทร(จรัญ อคฺคจาโร) วรรณมณี ปี พ.ศ. 2543 ก่อสร้างกำแพงด้านใต้ และด้านตะวันออก ก่อด้วยศิลาแลง สิ้นค่าก่อสร้าง 140,000.00 บาท (หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถ้วน) สมัยพระครูมงคลชัยสุนทร (จรัญ อคฺคจาโร) วรรณมณี ปี พ.ศ. 2545 ได้สร้างซุ้มประตูโขง สร้างได้ประมาณ 70 % สมัยพระครูมงคลชัยสุนทร (จรัญ อคฺคจาโร) วรรณมณี และได้ลาสิกขาก่อน และในปี พ.ศ. 2547 สมัยพระไพบูลย์ ปภาโต รักษาการเจ้าอาวาสเป็นฝ่ายสงฆ์และพ่อกำนันละเอียด บุญเรือง เป็นประธานฝ่ายฆารวาส ได้นิมนต์พระสงฆ์เข้าพิธีรุกขมูล ภายในวัดเพื่อหาทุนทรัพย์ในการสานต่อสร้างซุ้มประตูโขงจนสำเร็จลุลวงไปด้วยดี และได้ถวายเป็นศาสนสมบัติสืบต่อไป ปี พ.ศ. 2547 ได้ซ่อมแซมศาลาการเปรียญครั้งใหญ่ ในสมัยพระไพบูลย์ ปภาโต รักษาการเจ้าอาวาสเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พ่อกำนันละเอียด บุญเรือง เป็นประธานฝ่ายฆาราวาส จนสำเร็จจึงได้ถวายเป็นศาสนสมบัติ ปี พ.ศ. 2550 ได้สร้างพระเจดีย์ โดยได้วางศิลาฤกษ์ เมื่อวันจันทร์ที่ 2 เดือนเมษายน พ.ศ. 2550 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 เหนือ และเริ่มก่อสร้างเมื่อวันจันทร์ที่ 14 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550 แรม 13 ค่ำ เดือน 8 เหนือ ปี กุน โดยมีพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระราชเมธาจารย์ เจ้าคณะจังหวัด ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน วัดบ้านจำทรายมูล อ.ห้างฉัตร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และมีพ่อกำนัน ด.ต.กิจชนะชัย ปะละ กำนันตำบลไหล่หิน เป็นประธานฝ่ายฆารวาส การก่อสร้างด้วยการก่ออิฐถือปูน มีขนาดตัวองค์พระเจดีย์ ฐานกว้าง เมตร ส่วนสูงถึงยอดฉัตร เมตร การก่อสร้างสำเร็จเมื่อวัน ที่ เดือน พ.ศ. ซึ่งตรงกับวัน ค่ำ เดือน เหนือ ปี และได้ทำบุญฉลองสมโภชใหญ่ เมื่อวัน ที่ เดือน พ.ศ. ซึ่งตรงกับวัน ค่ำ เดือน เหนือ ปี เพื่อที่จะได้เป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธ์ คู่บารมี และเชิดหน้าชูตาเป็นที่สักการบูชาของคณะศรัทธาสาธุชนผู้แสวงบุญทั้งใกล้และไกลตราบอายุขัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปตลอดกาลนิรันดร์ คู่กับวัดชัยมงคลธรรมวราราม ธ. (วัดไหล่หินใหม่) |
|
"ไม่เริ่มต้นในวันนี้ จะไม่มีทางสำเร็จในวันพรุ่ง" โดย โยฮัน ว็อล์ฟกัง ฟ็อน เกอเทอ |