ไอทีในชีวิตประจำวัน #490 ขอดูโซเชียลมีเดียก่อนรับเข้าทำงาน ()
แนวคิดการดูพฤติกรรมในโซเชียลมีเดียประกอบการพิจารณารับบุคลากรใหม่เข้าทำงาน เพื่อให้ได้บุคคลที่เหมาะสมกับองค์กรที่สุดนั้นเคยมีมาบ้างแล้ว เมื่อต้นมีนาคม 2558 ก็พบเป็นข่าวว่าอธิการบดีและคณบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะนำพฤติกรรมของบุคคลที่แสดงออกทางโซเชียลมีเดีย (Social Media) มาเป็นอีกเกณฑ์หนึ่งที่ใช้คัดเลือกบุคคลมาเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งคาดว่าต่อไปไม่ว่าบริษัทเล็กหรือใหญ่ก็อาจเพิ่มเกณฑ์นี้ในการพิจารณารับคน ถ้าแสดงออกรุนแรง ขวางโลก หยาบคาย ลามก คิดลบ ไม่กลั่นกรองข้อมูล ไม่สร้างสรรค์ก็จะมีองค์กรอ้าแขนรับเข้าทำงานน้อยลง
โดยปกติแล้วการสอบสัมภาษณ์ก็เพื่อให้ผู้ว่าจ้างได้เห็นบุคลิกภาพ ทัศนคติ และแนวความคิดจากการพูดคุยโต้ตอบซึ่งกันและกัน การเข้าไปดูข้อมูลของผู้สมัครงานในกรณีที่ผู้สมัครอนุญาตก็จะทำให้นายจ้างได้เห็นตัวตนของผู้สมัครอีกทางหนึ่ง เป็นผลดีกับผู้สมัครรู้จักใช้โซเชียลมีเดียอย่างสร้างสรรค์ เกณฑ์การให้คะแนนในแต่ละอาชีพก็จะมีกฎกติกา (Rubric) ในการให้คะแนนแตกต่างกัน มีบางอาชีพที่ไม่ควรแสดงตัวตนควรเก็บเนื้อเก็บตัว เช่น ผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจสายสืบ บางอาชีพก็ควรแสดงแนวความคิดที่สอดคล้องกับหน้าที่การงาน เช่น ครูอาจารย์ แพทย์ ดารา หรือนักการเมือง บางอาชีพก็ควรใฝ่หาความรู้และแบ่งปันเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เช่น นักเรียน นักศึกษา นักข่าว นักหนังสือพิมพ์ นักคอมพิวเตอร์
การแสดงออกที่ไม่เหมาะไม่ควรย่อมส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของผู้สมัคร เช่น การโพสต์ภาพเซลฟี่ทุกวันหลังอาหารค่ำก็จะไม่เหมาะกับอาชีพทหาร ตำรวจ ข้าราชการ พยาบาล หรือผู้ที่อยู่ในเครื่องแบบอันทรงเกียรติ การโพสต์ภาพดื่มสุราสูบบุหรี่ หรือกอดรัดฟัดเหวี่ยงกับเพศตรงข้ามก็ไม่ควรนำไปเผยแพร่ เพราะจะเป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีต่อเยาวชน หรือไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น สิ่งที่ควรโพสต์ก็ควรต้องคิดก่อนโพสต์ตามสายอาชีพ เช่น นักเรียนก็ควรแสวงหาความรู้มาแบ่งปันที่ถือเป็นการทบทวนและใช้เวลาว่างให้มีประโยชน์ในโลกโซเชียล ครูก็ควรหาองค์ความรู้ใหม่มาแบ่งปันแก่ลูกศิษย์ พนักงานบริษัทก็ควรแบ่งปันข่าวประชาสัมพันธ์ขององค์กรหรือข่าวกิจกรรมประเภท CSR ที่ไปทำประโยชน์ต่อชุมชน หรือแสดงออกถึงการมีความรักในสายอาชีพของตน
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1425403120
|