ไอทีในชีวิตประจำวัน # 386 กดไลค์มากไปมีความหมายเป็นลบ ()
เฟสบุ๊คเป็นเว็บไซต์เครือข่ายสังคมที่มีคนไทยกว่า 1 ใน 3 ของประเทศเข้าเป็นสมาชิก และบริการแฟนเพจวัดขนาดของเพจด้วยจำนวนผู้กดไลค์ที่ชื่นชอบต่อเพจ เมื่อผู้ดูแลอัพโหลดภาพหรือข้อมูล ก็จะไปปรากฎใน news feed ของสมาชิกให้ได้ติดตามแบบวินาทีต่อวินาที ผู้เขียนพบภาพที่มีข้อความว่า "ใครเห็นรูปนี้ แล้วไม่กดไลค์ ระวังไม่มีแฟน" เมื่อเห็นทีแรกก็ไม่ได้คิดอะไร เพราะมีเรื่องให้ต้องเข้าไปแลกเปลี่ยนอีกเรื่องรออยู่ แต่เมื่อเห็นจำนวนกดไลค์กับเวลา ทำให้ต้องอ่านซ้ำ พบว่าภาพนั้นมีคนกดไลค์วินาทีละ 10 คน ใน 7 นาทีกดไป 4200 คน ผ่านไปไม่ถึงครึ่งวันมีคนกดไลค์สองหมื่นกว่า
หนึ่งวันมี 24 ชั่วโมง หรือ 1440 นาที แต่ก็มักมีเพื่อนบ่นว่าเวลาไม่พอ หรือไม่มีเวลา แสดงว่าพวกเขาต้องการเวลาไปทำอะไรสักอย่าง ส่วนผู้คนอีกไม่น้อยว่างพอที่จะติดตามผู้คนในเครือข่ายสังคม สื่อสารแลกเปลี่ยนกับเพื่อน ซึ่งเฟสบุ๊คมีน้ำหนักของสาระน้อยกว่าเว็บไซต์เฉพาะทาง ถ้าจะหาสาระก็จะต้องหาจากหนังสือที่ถูกเรียบเรียงอย่างเป็นระบบ แต่ร้านหนังสือในปัจจุบันก็มียอดขายไม่สูง เฉพาะที่ลำปางมีร้านหนังสือขนาดใหญ่ปิดตัวลงไปไม่ต่ำกว่า 4 ร้าน ที่มีอยู่ก็มิได้มีลูกค้าเพิ่มตามการเติบโตของเมือง สังเกตว่าในอำเภอรอบนอกไม่พบร้านหนังสือขนาดใหญ่ เพราะเยาวชนมักเชื่อว่าเนื้อหาสามารถสืบค้นได้จากอินเทอร์เน็ต แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าเวลาที่อยู่กับอินเทอร์เน็ตใช้ไปกับการแสวงหาสาระ การสื่อสาร หรือบันเทิงกันแน่
ผลสำรวจปี 2551 พบว่าเด็กไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยปีละ 5 เล่ม หรือเดือนละไม่ถึงครึ่งเล่ม แล้วปี 2555 มีนโยบายแท็บเล็ตสำหรับนักเรียน ทำให้มีแท็บเล็ตราคาไม่ถึงสามพันบาทเข้ามาให้ซื้อหาได้ง่าย ผลการจัดอันดับพบว่า กรุงเทพฯ มีจำนวนผู้ใช้เฟสบุ๊คมากที่สุดในโลก อีกสถิติก็บอกว่าคนไทยเล่นไลน์ (Line) สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก แล้วศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการ สมศ. เปิดเผยว่าผลประเมินรอบ 3 พบว่า โรงเรียนกว่า 1 ใน 3 ไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินคุณภาพ คือสอนเด็กให้เป็นเด็กที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งล้วนเป็นเหตุผลสนับสนุนว่าถ้าคนไทยหมกมุ่นกับการกดไลค์ในสาระที่ไม่สร้างมูลค่าเพิ่มกันต่อไป ก็หมายความว่าประเทศของเราจะยังเป็นประเทศที่กำลังพัฒนากันต่อไปอีกนาน
http://www.thaiall.com/blogacla/admin/2392/
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9560000015716
http://www.kroobannok.com/53965
|