ไอทีในชีวิตประจำวัน # 353 การประยุกต์ใช้แท็บเล็ตเพื่อการศึกษา ()
แต่ละกลุ่มมีบทบาทเกี่ยวข้องที่ต่างกัน อาทิ เป้าหมาย กระบวนการ ความคาดหวัง ระบบ กลไก บทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบ ประสบการณ์ ค่านิยม วัฒนธรรม และทัศนคติ กรณีที่นักเรียน ป.1 ได้แท็บเล็ตล็อตแรกเดือนกรกฎาคม 2555 ซึ่งผู้มีบทบาทสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ คือ ครูใหญ่ที่ต้องเข้าใจ วางแผน มอบหมาย กำกับ ติดตามให้คุณครูได้ใช้งานอุปกรณ์ตามแผนการจัดการเรียนการสอน และกำหนดแนวการประเมินให้คุณครูประจำชั้นไว้ถือปฏิบัติ และเข้าใจตรงกันทั้งชั้น ดูเหมือนในระดับโรงเรียนทุกอย่างเริ่มต้นที่ครูใหญ่ที่รับนโยบายจากกระทรวงฯ และครูใหญ่ก็ควรเข้าใจการประยุกต์ใช้แท็บเล็ต ถ้าครูใหญ่ใช้ไม่เป็นหรือไม่เข้าใจ แล้วจะกำกับสนับสนุนให้ครูน้อยได้ใช้เครื่องมือสุดวิเศษที่เปรียบเสมือนแก้วสารพัดนึกนี้ได้อย่างไร
เมื่อนโยบายพร้อมอุปกรณ์มาถึงครูน้อยที่สอนในชั้นป.1 ก็จำเป็นที่ผู้รับผิดชอบต้องร่วมกันวางแผนรับมือกับอุปกรณ์ ศึกษาใช้งานให้ชำนาญในระดับหนึ่ง จึงจะสามารถควบคุมการใช้งานของนักเรียนในประเด็นว่าโดยใคร เมื่อไร ที่ไหน กับใคร อย่างไร เพราะเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ไฟฟ้า เปราะบาง ซับซ้อน มาใหม่ และมีมูลค่า หากวางแผน กำกับ ติดตาม พัฒนาได้ไม่ดีก็จะส่งผลให้การใช้ประโยชน์นั้นขาดประสิทธิภาพ แล้วผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั้งพุทธิพิสัย จิตพิสัย ทักษะพิสัย หรือ ตัวชี้วัด/มาตรฐานและจุดเน้นตามหน่วยการเรียนรู้ ก็จะไม่บรรลุตามที่ตั้งไว้ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายกับการศึกษาไทยในพ.ศ.นี้
|